ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. บ้านเลม็ด มีประสบการณ์ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาดูงานอยู่มาก เนื่องจากอำเภอไชยามีความหลากหลายทั้งเรื่องราวของศาสนา (สวนโมกข์) วัฒนธรรม/ประวัติศาสตร์ (ยุคศรีวิชัย) และเกษตร รวมถึงไข่เค็มไชยาก็เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว อีกทั้งยังได้พัฒนาให้เกิดโมเดล "ไชยาซิตี้" ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนส่วนด้านการเกษตร ยังคงทำเกษตรแบบประณีต มีข้าวหอมไชยาเป็นอัตลักษณ์อีกตัวหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน
สถานที่ท่องเที่ยว
จุดที่ 1 สวนโมกขพลาราม อยู่บริเวณเขาพุทธทอง แยกจากทางหลวงหมายเลข 41 ก่อนถึงตลาดไชยาเล็กน้อย ตรงหลักกม.ที่ 71-72 เดิมชื่อวัดธารน้ำไหล มีท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 เพื่อเป็นสถานที่ แสวงหาความสงบและศึกษาธรรม รอบบริเวณร่มรื่นเหมาะสำหรับเป็นที่ฝึกอบรมจิตใจและศึกษาพุทธ ศาสนา มีการสอนฝึกสมาธิแก่ชาวต่างประเทศ ทุกวันที่ 1-10 ของทุกเดือน
จุดที่ 2 บ่อน้ำพุร้อนโบราณ ตั้งอยู่ที่ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากอำเภอไชยาประมาณ 4 กิโลเมตร น้ำพุร้อนที่ผุดออกมานั้น ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วย ประกอบด้วยถ้ำขนาดเล็ก 2 ถ้ำและบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ 2 บ่อ โดยมีความเชื่อกันว่าชาวอินเดียที่มาตั้งเมืองศรีวิชัยนั้นชอบอาบน้ำร้อนเพราะถือเป็นพิธีกรรมทางศาสนา น้ำพุร้อนที่ผุดออกมานั้นถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ กษัตริย์ในสมัยนั้นจึงได้สร้างสระไว้สำหรับอาบน้ำ ปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของอำเภอไชยา เพราะเป็นบ่อน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความเก่าแก่มากแห่งหนึ่ง
จุดที่ 3 สวนรุกขชาติเข้าพุทธทอง อยู่ริมถนนบริเวณกม.ที่ 134 ติดกับสวนโมกขพลาราม เป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่มีค่าไว้มากมาย
จุดที่ 4 วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียง อำเภอไชยา ห่างจากที่ตั้งอำเภอไชยา 1 กม. องค์พระเจดีย์เป็นโบราณสถาน ที่สร้างขึ้นตามแบบลัทธิมหายาน ตั้งแต่ครั้งอาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรือง รอบองค์พระธาตุมีเจดีย์เล็กๆ 4 ทิศ ล้อมรอบด้วยวิหารคด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ขนาดต่างๆ โดยรอบทั้ง 4 ด้าน พระธาตุไชยานับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
จุดที่ 5 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ตั้งอยู่ที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ตำบลเวียง เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประเภทประวัติศาสตร์และโบราณคดี อาคารหลังแรกด้านหน้าจัดแสดงประติมากรรมศิลา และสำริดที่ค้นพบในเมืองไชยาเก่า ได้แก่ เทวรูปพระนารายณ์ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ส่วนอาคารที่สอง เป็นที่จัดแสดงหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา นอกจากนี้ยังจัดแสดงงานประณีตศิลป์ต่างๆ อีกมากมาย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา เปิดบริการตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ วันอังคาร ส่วนค่าบริการเข้าชม ชาวไทย 5 บาท ชาวต่างประเทศ 10 บาท
จุดที่ 6 7 8 วัดเวียง-วัดหลง-วัดแก้ว โบราณสถานที่สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย
จุดที่ 9 หมู่บ้านพุมเรียงและแหลมโพธิ์ อยู่ตำบลพุมเรียงห่างจากชุมชน 4 กม. ผ้าไหมพุมเรียงเป็นผ้าไหมยกดิ้นเงิน หรือดิ้นทองสวยงาม เป็นสินค้าพื้นเมืองที่มีชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เลยจากหมู่บ้านไป 2 กม. ตามเส้นทาง พุมเรียง-ชายทะเล จะถึงแหลมโพธิ์ชายทะเลที่น่าเที่ยวแห่งหนึ่งของตำบลพุมเรียง
จุดที่ 10 11 สาธิตการทำไข่เค็มและข้าวหอมไชยา
“การทำไข่เค็มสูตรอำเภอไชยา”จะต้องใช้ดินจอมปลวกเป็นส่วนผสม เนื่องจากดินจอมปลวกมีธาตุกำมะถัน ช่วยทำให้ไข่เค็มมีรสชาติดีขึ้น การเลี้ยงเป็ดในอดีตใช้เป็ดพันธ์ทั่วไป ปัจจุบันเลี้ยงเป็ดพันธ์กากีแคมเบรน ซึ่งให้ไข่คุณภาพดีโดยสั่งซื้อมาจากจังหวัดนครปฐม ปัจจุบันสามารถผลิตไข่เป็ดได้เองอย่างสม่ำเสมอ การเลี้ยงเป็ดของอำเภอไชยา จะไม่เลี้ยงเหมือนกับที่อื่นๆ เพราะจะเลี้ยงด้วยหัวกุ้ง ข้าวเปลือก ลูกปลาตัวเล็กๆ แต่ถ้าไม่มีหัวกุ้ง ไม่มีข้าวเปลือกก็สามารถให้อาหารที่สำเร็จรูปได้
“ข้าวหอมไชยา”เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เกิดจากมรดกธรรมชาติของชาวไชยา มีการผลิตสืบทอดกันมานาน ซึ่งเล่าขานกันว่า เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตดี เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพอากาศ เวลาข้าวออกรวงจะหอมไปทั่วทุ่ง เวลาหุงจะหอมไปทั่วบ้าน อีกทั้ง ธนาคารได้จัดกิจกรรมปลูกข้าววันแม่ เกี่ยววันพ่อ ณ ที่นาแปลงนี้ เพื่อเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา ให้ชาวนาได้ปลูกสืบทอดกันต่อไป
ผัดไทยไชยา เมนูเด็ดจากแดนใต้ เสน่ห์อยู่ที่เส้นเหนียวนุ่มกับน้ำผัดไทยรสเข้มข้น รับประกันความอร่อย
หลายคนอาจสงสัยว่า ผัดไทยไชยาต่างจากผัดไทยธรรมดาทั่วไปอย่างไร ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามาจากภาคใต้แน่ ๆ ซึ่งผัดไทยไชยา หลายคนก็เรียก ผัดหมี่ท่าฉาง หรือผัดหมี่ไชยา เป็นเมนูเด็ดดังมาจากอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีตามชื่อนั่นเอง ซึ่งเอกลักษณ์ของผัดไทยไชยาก็คือ ผัดไทยไชยาจะมีแค่เส้นที่นำไปผัดกับน้ำผัดไทยเท่านั้น ไม่ตอกไข่ลงไปผัดหรือนำมาห่อไข่ ไม่ใส่เนื้อสัตว์ กินเพียงเปล่าๆ กับผักเคียงเต็มโต๊ะ เพราะความโดดเด่นของน้ำผัดไทยที่มีรสชาติเข้มข้นอยู่แล้วนั่นเอง
ไข่เค็มไชยา การทำไข่เค็มสูตรอำเภอไชยา จะต้องใช้ดินจอมปลวกเป็นส่วนผสม เนื่องจากดินจอมปลวกมีธาตุกำมะถัน ช่วยทำให้ไข่เค็มมีรสชาติดีขึ้น การเลี้ยงเป็ดในอดีตใช้เป็ดพันธ์ทั่วไป ปัจจุบันเลี้ยงเป็ดพันธ์กากีแคมเบรน ซึ่งให้ไข่คุณภาพดีโดยสั่งซื้อมาจากจังหวัดนครปฐม ปัจจุบันสามารถผลิตไข่เป็ดได้เองอย่างสม่ำเสมอ การเลี้ยงเป็ดของอำเภอไชยา จะไม่เลี้ยงเหมือนกับที่อื่นๆ เพราะจะเลี้ยงด้วยหัวกุ้ง ข้าวเปลือก ลูกปลาตัวเล็กๆ แต่ถ้าไม่มีหัวกุ้ง ไม่มีข้าวเปลือกก็สามารถให้อาหารที่สำเร็จรูปได้
ผ้าไหมพุมเรียง เป็นผ้ายกที่มีลวดลายสวยงามและมีเอกลักษณ์ต่างไปจากผ้ายกของภาคอื่นๆ กล่าวคือ มีการทอยกดอกด้วยไหม หรือ ดิ้นเงิน ดิ้นทอง ในสมัยโบราณจะมีการใช้วัตถุดิบทั้งฝ้ายและไหม โดยแบ่งออกเป็นผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทอโดยใช้ฝ้าย และผ้าที่ใช้ในงานหรือพิธีการต่างๆ จะทอโดยใช้ไหม
การทอผ้าพุมเรียง เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ของตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัด สุราษฎร์ธานี โดยชาวไทยมุสลิม ที่อพยพมาจากเมืองสงขลา เมืองปัตตานีและเมืองไทรบุรี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวมลายูในหมู่เกาะอินโดนีเซีย เป็นผู้นำความรู้กระบวนการทอผ้าติดตัวมาด้วย ผ่านถ่ายทอดสืบต่อกันมาด้วยวิธีการสังเกต จดจำ และทดลองปฏิบัติทอจริงโดยไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ได้รับการสั่งสมภูมิปัญญาและสืบทอดกันมาสู่อนุชนรุ่นหลัง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ในความสวยงามของลายผ้าและความประณีตของฝีมือการทอผ้า ซึ่งมีลักษณะเด่นแตกต่างไปจากผ้าทอของภูมิภาคอื่นๆ เช่น การทอยกดอกด้วยไหม และดิ้น ผ้ายกชุดหน้านาง ผ้ายกดอกถมเกสร และผ้ายกดอกลายเชิง เป็นต้น โดยถือว่าการทอผ้าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม ที่จะต้องเตรียมไว้ใช้สอยในครอบครัว โดยเฉพาะหญิงสาวที่จะออกเรือนจำเป็นจะต้องเรียนรู้วิธีการทอผ้า เพื่อเตรียมไว้ใช้ในการแต่งงาน เช่น ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และเครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำด้วยผ้า ดังนั้น การมีฝีมือในการทอผ้าจึงเป็นการแสดงถึงความเป็นกุลสตรี
สนใจสามารถติดต่อได้ที่
นายสุธรรม ทองแช่ม โทร. 0810868289
นางประสงค์ หีตอนันต์ โทร.0817876490